วันอังคารที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2554

แนวคิดการจัดการที่ดินโดยองค์กรชุมชน

"บนโลกใบนี้คงไม่มีผืนแผ่นดินตรงไหนงอกขึ้นมาได้ แต่มนุษย์เพิ่มจำนวนขึ้นทุกวัน  แม้มนุษย์จะทำไห้โลกใบนี้โตขึ้นไม่ได้ แต่ถ้ารู้จักเพิ่มสิ่งที่กินได้ ก็เท่ากับเพิ่มขนาดของโลกเช่นกัน "
          การต่อสู้กับแนวคิดที่มองที่ดินเป็นสินค้า  ซึ่งชาวบ้านอย่างเรา  มองว่า  "ที่ดิน คือชีวิต"  จึงมีกระบวนการทำงานพัฒนาโดยองค์กรชุมชน    ที่ผ่านมานั้น  มักจะพบว่า  มีการถ่ายทอดประสบการณ์ทำงานของขบวนการต่อสู้ภาคประชาชนจากรุ่นสู่รุ่นเพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย กฎหมาย  กฎหมายที่ละเมิดสิทธิชุมชน รวมถึงกฎหมายที่เก่าล่าหลังที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาของชุมชน   โครงการพัฒนาขยายใหญ่ที่ดำเนินงานโดยภาครัฐและภาคเอกชน  ทำให้ปัญหาความยากจนแพร่ขยายอย่างกว้างขวางในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความยากจนของภาคเกษตรหรือชนบท รวมถึงคนจนเมือง   รวมถึงกลุ่มคนชาติพันธุ์   สาเหตุสำคัญของปัญหามาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ปัญหาเชิงนโยบายของรัฐและเอกชน ที่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบด้านต่อประชาชน
ความจนเป็นปัญหาใหญ่ทางโครงสร้างสังคม ซึ่งเกี่ยวโยงกระทบเป็นลูกโซ่ จากจำนวนคนยากจนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หนี้สินรุงรัง ไร้ที่ทำกินและที่อยู่อาศัย รวมไปถึงการบุกรุกหรือเป็นเครื่องมือของนายทุนในการบุกรุกป่า ก่อให้เกิดปัญหาระบบนิเวศน์เสื่อมโทรม ฯลฯ ปัญหาทั้งหมดดังกล่าวล้วนสืบเนื่องจากรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยไม่ได้วางแผนการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างจริงจัง ไม่มีนโยบายในการกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากร และการมีวิสัยทัศน์การพัฒนาแบบองค์รวมที่เน้นความหลากหลายและการมีส่วนร่วมของประชาชน
ในทางตรงกันข้าม  รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยไม่พยายามศึกษาและเข้าใจฐานะของประชาชน  เมื่อเกิดปัญหาความขัดแย้งจากการเรียกร้องของคนจน  การประท้วงของกลุ่มเกษตรกรและกลุ่มชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบาย  หรือการบีบบังคับให้คนจนเสียสละเพื่อสังคม  รัฐบาลหรือกลุ่มชนชั้นผู้ปกครองมักใช้การแก้ไขปัญหาด้วยอำนาจความรุนแรง  การข่มขู่คุกคาม  การจับกุมคุมขัง  หรือใช้กฎหมายอย่างไร้คุณธรรม อันเป็นการสร้างปัญหาใหม่แก่ประชาชน
ความยากจนจึงไม่ใช่เป็นเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ หรือเกิดจากอุปนิสัยความขี้เกียจของผู้คน ความยากจนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างการพัฒนา ที่มีพื้นฐานมาจากการไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนา ขณะเดียวกันก็มีความจำเป็นที่จะต้องสะสางปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นเพื่อเป็นการบรรเทาความรุนแรงจากปัญหาต่าง ๆ  เช่น  ปัญหาการจับกุมผู้มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยในเขตพื้นที่อนุรักษ์  ปัญหาคดีโลกร้อน ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายเพื่อยึดทรัพย์สินของประชาชนที่เกิดจากปัญหาหนี้สิน 
       ณ ปัจจุบันองค์กรชุมชน มีกระบวนการพัฒนาการจนมีความเข้มแข็งทั้งในระดับชุมชน  การรวมตัวกันเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายประเด็นปัญหา  และเครือข่ายคนจนทั้งผองเป็นพี่น้องกัน  ในนาม ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ขึ้น  โดยการทำงานเป็นการทำงานในพื้นที่ชุมชนให้เกิดรูปธรรมไปพร้อม ๆ กับการขับเคลื่อนทางนโยบายสู่การแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน
       นอกจากการพัฒนาพื้นที่รูปธรรมและการขับเคลื่อนเชิงนโยบายแล้ว  ยังมีปัจจัยอื่นๆ  ที่สำคัญในการทำงานพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยโดยองค์กรชุมชน  คณะผู้จัดทำจึงได้เรียบเรียงชุดประสบการณ์ออกมาเป็นคู่มือและขั้นตอนการทำงาน เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยในรูปแบบโฉนดชุมชน

สาเหตุของปัญหา
          ที่ดินถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของกลุ่มชน  ต่อมาที่ดินได้ถูกแปรเปลี่ยนให้เป็นสินค้าและมูลค่าที่สามารถตีค่าให้เป็นตัวเงิน   มีการแย่งชิงที่ดิน  โดยการกว้านซื้อที่ดินของกลุ่มนายทุน  บุกรุกที่ดินเพิ่มขึ้นเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว  ฯลฯ  ท้ายที่สุดที่ดินหลุดมือจากการเป็นหนี้  นำซ้ำยังมีปัจจัยต่าง ๆ  คุกคามทั้งจากภายนอกและภายใน          
จากสภาพปัญหาและบทเรียนการสูญเสียที่ดินของเกษตรกร  รวมถึงจากกระบวนการแก้ไขปัญหาของรัฐที่เป็นผู้ดูแลที่ดินของรัฐทุกประเภท โดยเฉพาะปัญหาที่ดินทำกินที่อยู่อาศัยที่อยู่ในเขตพื้นที่อนุรักษ์ของรัฐ (ป่าสงวนแห่งชาติ /อุทยานแห่งชาติ/ พื้นที่อนุรักษ์พื้นพืชและสัตว์)  พบว่า  ชุมชนส่วนใหญ่ มีการตั้งรกรากถิ่นฐานอยู่ก่อนแล้ว  บางชุมชนตั้งมาไม่น้อยกว่า ๑๐๐ ปี   หากใช้กระบวนการทางกฎหมาย หรือนโยบาย รวมถึงมมติ ครม. ต่าง ๆ  ที่เกี่ยวข้อง พบว่า  ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนผู้ยากจนได้อย่างแท้จริง  ซึ่งสามารถช่วยเหลือประชาชนได้เพียงบางส่วน  และยังเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาขององค์กรชุมชน


คณะทำงานเครือข่าย

1)       นายวิรัตน์                 พรมสอน               ต.ดอนศิลา          คณะทำงาน
2)       นายทวีศักดิ์              ยอดมณีบรรพต      ต.ปอ                  คณะทำงาน
3)       นายสุรชัย                 เกียรติไพรยศ        ต.ตับเต่า             คณะทำงาน
4)       นายชัยณรงค์            ยอดมณีบรรพต     ต.ยางฮอม           คณะทำงาน
5)       นายเกรียงศักดิ์          ปะปะ                   ต.บ้านโป่ง            คณะทำงาน
6)       นายประวิทย์             นุแฮ                     ต.สันสลี               คณะทำงาน
7)       นายยาคา                 เอื้อมชัยสกุล         ต.ท่าก๊อ               คณะทำงาน
8)       นายมนัส                  ขุนวาส                  ต.ศรีถ้อย             คณะทำงาน
9)       นายอาเสาะ               เชอมือกู่               ต.ป่าตึง                คณะทำงาน
10)     นายดวงดี                 จะนู                     ต.แม่ยาว              คณะทำงาน
11)     นายอานนท์               แซ่หวัง                ต.แม่สลอง            คณะทำงาน

 คณะกรรมการที่ปรึกษา
1)        นางวิไล                   นาไพวรรณ์          กองเลขาฯ            สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ
2)        นายชัยธวัช               จอมติ                 กองเลขาฯ           มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ
3)        นายชัชวาล               หลียา                 กองเลขาฯ           มูลนิธิพัฒนาชุมชนในเขตภูเขา
4)        นายอาเกอะ              บอแซ                 กองเลขาฯ           มูลนิธิพัฒนาชุมชนในเขตภูเขา
5)        นายจำลอง               ปอคำ                 กองเลขาฯ           UHDP
6)        นายอัตลักษณ์                จิตรจริยวัตร            กองเลขาฯ           UHDP
7)        นายเกรียงศักดิ์           กิติทรัพย์             กองเลขาฯ           แอ๊ดดร้า ประเทศไทย
8)        นายกันตเมศฐ์           เดชถิระพิพัฒน์      กองเลขาฯ           แอ๊ดดร้า ประเทศไทย

 องค์กรภาคี
(๑)  เครือข่ายบ้านมั่นคงเมืองเชียงราย
(๒) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินจังหวัดพะเยา
(๓) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินจังหวัดแพร่
(๔) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินจังหวัดน่าน
(๕) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเชียงใหม่
(๖)  เครือข่ายปฏิรูปที่ดินจังหวัดแม่ฮ่องสอน
(๗) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินจังหวัดตาก
(๘) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินจังหวัดลำพูน
(๙)  เครือข่ายปฏิรูปที่ดินจังหวัดลำปาง
(๑๐)                      เครือข่ายสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ
(๑๑)                      เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย
(๑๒)                      ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม : Pmove
(๑๓)                      เครือข่ายอาสาสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ



ประวัติความเป็นมาเครือข่ายที่ดินจังหวัดเชียงราย


    เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่าที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยพื้นฐานหลักในการดำรงชีวิตของเกษตรกรรายย่อย จากสภาพการณ์ในปัจจุบันพบว่า ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรมลง และเกิดการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติรุนแรงขึ้น เช่น การบุกรุกป่าเพื่อที่ดินทำกิน   การแย่งการจัดการแหล่งน้ำธรรมชาติระหว่างชุมชนกับบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ในหลายพื้นที่ ซึ่งปัญหาดังกล่าวยังดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่รัฐได้มีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 เป็นต้นมา ตลอดมาองค์กรภาคประชาชนเองได้ใช้ความพยายามแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินและการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติมาโดยตลอด โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและงานวิชาการสมัยใหม่ในการฟื้นฟูและรักษา แต่ก็ยังไม่สามารถยับยั้งหรือแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่
          ปัจจุบันรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนและองค์กรภาคเอกชน ในการสร้างความเข้มแข้งของชุมชนในการจัดการตนเองเกี่ยวกับความเป็นอยู่ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การปกครองและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหาในด้านต่าง     และได้มีคำสั่งจากคณะกรรมการศูนย์อำนวยการแก้ปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ที่ 4/2550 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการสนับสนุนการฟื้นฟูระบบนิเวศวิทยาเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควัน รวมถึงการจัดการที่ดินและระบบการเกษตร การจัดการลุ่มน้ำ การจัดการป่าชุมชน โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนท้องที่จังหวัดเชียงราย ณ วันที่ 12 มิถุนายน 2550 โดยรองนายกรัฐมนตรี นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม)
           ในขณะเดียวกัน เกษตรกรในจังหวัดเชียงรายส่วนใหญ่ยังไม่มีที่ดินทำกิน มีที่ดินทำกินแต่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ เนื่องจากองค์กรของรัฐประกาศเขตประสงวนแห่งชาติ ประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ และพื้นที่อื่นๆ ทับที่ดินทำกินของเกษตรกร จนนำไปสู่ความขัดแย้งรวมถึงปัญหาความมั่นใจในการครอบครองพื้นที่และการประกอบสัมมาอาชีพ    เช่น พื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยในเขตป่า เช่น บ้านรักแผ่นดิน ต.ตับเต่า อ.เทิง บ้านห้วยหาน ต.ปอ อ.เวียงแก่น บ้านแม่ยางมิ้น ต.ศรีถ้อย อ.แม่สรวย    พื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยอยู่ในเขตอุทยานหรือเตรียมประกาศเขตอุทยาน เช่น บ้านห้วยหินลาด  ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า บ้านห้วยลุหลวง บ้านแคววัวดำ บ้านผามูบ ต.แม่ยาว อ.เมือง    พื้นที่สาธารณะประโยชน์ เช่น บ้านสมานมิตร ต.ดอนศิลา เป็นต้น
       จากประสบการณ์ที่ผ่านมาเกษตรกรยังขาดกระบวนการในการจัดเก็บข้อมูลที่เป็นระบบและการรับรู้ข้อมูลข่าวสารในระดับนโยบายต่าง จึงทำให้การแก้ไขปัญหาในด้านที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์เท่าที่ควร   ซึ่งบทบาทดังกล่าว   จึงจำเป็นต้องมีคณะทำงานติดตามนโยบายรัฐและจัดเก็บข้อมูลที่ชัดเจนเพื่อสนับสนุน กระบวนการการแก้ไขปัญหาที่ดินและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติโดยองค์กรภาคประชาชนในพื้นที่เขตจังหวัดเชียงราย