วันจันทร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2555

รัฐตั้งเป้าแจกโฉนดชุมชน3ปี2ล้านไร่

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชนว่า รัฐบาลมีแผนในการจัดสรรที่ดินที่มีความเหลื่อมล้ำเรื่องของกรรมสิทธิ์ให้มีโฉนดชุมชนพื่อให้สิทธิ์ในการใช้ประโยชน์แก่ประชาชน โดยมีเป้าหมายในการจัดสรรให้ได้ 2 ล้านไร่ ในระยะเวลา 3 ปี
จากการประชุมพบว่า มีหลายส่วนที่ยังเป็นปัญหาโดยเฉพาะ ระบบการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพราะบางพื้นที่มีความสับสนในเรื่องของกรรมสิทธิ์ถือครอง โดยได้ประสานงานไปยังสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (gistda) เพื่อมาเป็นข้อมูลสำคัญในการแบ่งพื้นที่ที่ชัดเจนซึ่งจะช่วยให้การทำงานของศูนย์ข้อมูลที่ดินและแผนที่แห่งชาติเป็นระบบมากขึ้น
 
รวมทั้ง ระบบบัญชีรายชื่อของผู้ที่ขึ้นทะเบียนเรื่องปัญหาที่ดินทำกินที่ธนาคารที่ดินรวบรวมไว้ก็ต้องมีการปรับปรุงข้อมูลที่ทันสมัย และมีการตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อให้นำมาใช้ประกอบการตัดสินใจการออกโฉนดชุมชน
      
นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ที่รัฐบาลประสานขอพื้นที่เพื่อนำมาจัดสรรออกโฉนดชุมชนให้กับประชาชน เช่น ที่ดินของรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยราชการต่างๆ พร้อมรายงานปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ในการจัดสรรพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาให้ได้โดยเร็วที่สุด
      
สำหรับ พื้นที่ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาออกโฉนดชุมชนโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 107,3869 ล้านไร่ ในพื้นที่ 38 จังหวัด คิดเป็นจำนวนครัวเรือนจำนวน 37,894 ครัวเรือนหรือ 153,031 คน ขณะที่ มีชุมชนที่ได้ยื่นคำขอและอยู่ระหว่างการตรวจสอบเอกสารเพิ่มเติมจำนวน 182 ชุมชน ใน 29 จังหวัด รวมเนื้อที่ 1,159,977 ไร่ จำนวน 25,451 ครัวเรือน 89,767 คน

ข้อมูลจาก  กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ผู้ตรวจฯพบที่ดิน100ล้านไร่ตกในมือต่างชาติ


'ผู้ตรวจการแผ่นดิน'ชี้ที่ดินไทย 100 ล้านไร่ อยู่ในมือต่างชาติ เผยถือครองผ่าน"คู่สมรส - นอมินี" ชี้หาก เป็นแบบนี้คนรุ่นหลัง'ไร้แผ่นดิน'
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคณะกรรมาธิการ เศรษฐกิจ การพาณิชย์และอุตสาหกรรม วุฒิสภา จัดการสัมมนาเรื่อง นิติกรรมอำพราง : ต่างชาติกับการถือครองที่ดิน โดยนายศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ปัญหาความมั่นคงของประเทศไทยมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ 1.ความมั่นคงทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งกำลังได้รับผลกระทบจากปัญหายาเสพติดเพราะกำลังบั่นทอนบุคคลากรของประเทศในระยะยาว 2.ที่ดินโดยมีปัญหาว่าเราส่งต่อให้รุ่นลูกหลานอย่างไรเนื่องจากตอนนี้ที่ดินกว่า 1 ใน3 ของประเทศไทยหรือคิดเป็นประมาณ 100 ล้านไร่อยู่ในมือของต่างชาติ แสดงให้เห็นว่าเป็นการแย่งดินแดนโดยใช้ระบบเศรษฐกิจและช่องโหว่ของกฎหมาย
นายศรีราชาระบุต่อว่าทั้งนี้ปัญหานี้มีมานานแล้วตั้งแต่อดีตเพราะเราต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้เกิดการถือครองที่ดินของชาวต่างชาติ ช่วงปี 2540 ได้เปิดช่องให้ชาวต่างชาติมีเงินเพียง 1 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกาเข้ามาถือครองที่ดินได้เป็นกรณีพิเศษ ทำให้ ณ วันนี้มีที่ดิน 1 ใน 3 ของประเทศถูกถือครองอำพรางโดยต่างด้าว คิดเป็นประมาณ 100 ล้านไร่ ตัวเลขนี้มาจากการทำงานวิจัยของสถาบันการศึกษา ที่น่ากลัวที่สุด คือ ที่ดินแทบชายทะเล เช่น หาดบ้านเพ จ.ระยอง พบว่าเป็นของต่างชาติกว่า 90 % เช่นเดียวกับ หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พัทยา จ.ชลบุรี น่าอยู่ในมือต่างชาติ 30% ส่วนเกาะภูเก็ต เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ไม่ต้องพูดถึง
 นายศรีราชา กล่าวต่อว่า การถือครองที่ดินของต่างชาติเข้ามาในหลายรูปแบบ เช่น สมรสกับคนไทย หรือตั้งบริษัทไทยและไปแปลงภาพในภายหลังแม้ว่าในกฎหมายจะกำหนดให้ต่างด้าวถือหุ้นได้ไม่เกิน 49 % แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่าจำนวนหุ้นอีก 51%ที่เหลือกลายเป็นถือครองในระบบนอมินีแทน ดังนั้นการแก้ไขปัญหาจะต้องทบทวนการจำกัดถือครองที่ดิน และผลักดันภาษีที่ดินให้เพิ่มมากขึ้นเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดิน แต่เรื่องนี้เหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา เชื่อว่าไปไม่รอดแน่เพราะคนรวยในระบอบนี้ไม่มีใครยอม รวมทั้งต้องสร้างเครือข่ายร่วมกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และต้องมีสินบนนำจับเพื่อแก้ปัญหาระยะยาว
 นอกจากนี้การได้เห็นสภาพแบบนี้ เมืองไทยจะไม่มีอะไรเหลือ คนรุ่นหลังจะไม่มีที่อยู่ และต้องจับตาแนวคิดในการเอาไทยเป็นครัวของโลก ซึ่งเป็นช่องทางให้เกิดการถือครองที่ดินของต่างชาติ ตนจับตามาตั้งแต่ออสเตรเลียพยายามเอาผลไม้ของเราไปปลูกแต่ทำในประเทศตัวเองไม่ได้เลยมาขอเช่าที่ดินในไทยแทน ต่อไปจะมีนักการเมืองบางท่านสนับสนุนตะวันออกกลางข้าวหอมมะลิจะตรีตราเป็นภาษาตะวันออกกลางทั้งหมด หากไม่สำเหนียกในการคุ้มครองสิทธิชาวนาไทย ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้มาจากกความไม่สามารถของฝ่ายบริหารของประเทศที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ปลูกพื้นไร่บ้านเราบนที่ดินเราแต่ผลผลิตส่งกลับประเทศของเขาและคนไทยจะเป็นเพียงแรงงานเท่านั้น
 ด้านน.ส.ปิยะนุช โปตะวณิช อาจารย์คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า ปัญหานี้จะส่งผลน่ากลัวอย่างมากในช่วงปี 2558 ซึ่งจะเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนและเปิดเศรษฐกิจเสรีเพื่อกระตุ้นการลงทุนในภูมิภาค เกรงว่าจะกลายเป็นช่องว่างให้เกิดกระบวนการนิติกรรมอำพรางของต่างชาติเพื่อเข้ามาถือครองที่ดินในไทย โดยเฉพาะประเทศสิงคโปร์ อยากให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องจับตามองเป็นพิเศษ เพราะสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งทางด้านการเงินจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องการลงทุนในด้านอื่นๆ เพื่อทำประโยชน์และสร้างกำไรทางเศรษฐกิจ
 ทั้งนี้สิงคโปร์มีเทคนิคสูงมากกยากต่อการตามให้ทัน ปัญหาตอนนี้ คือ ทำอย่างไรให้หน่วยงานตรวจสอบของเรามีความเข้มแข็งและประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นไปได้หรือไม่กับการกำหนดข้อห้ามออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร การบูรณาการข้อมูล การเสนอกฎหมายการกระทำความผิดของตัวแทนกระทำอำพราง รวมไปถึงมาตรการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มแข็งด้วย หรือการเนรเทศชาวต่างชาติที่กระทำความผิดในส่วนนี้
 ขณะที่นายสุจิต จงประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการทะเบียนที่ดิน กรมที่ดิน กล่าวว่า คนต่างด้าวมีศักยภาพในทางการเงินสูง จึงขวนขวายให้ได้มาซึ่งที่ดินจำนวนมากเพื่อเปลี่ยนเป็นเงินตรากลับประเทศ ทั้งนี้การพิสูจน์การถือครองที่ดินของต่างชาติทำได้ยาก เพราะถ้าผู้ที่เข้ามาจดทะเบียนได้ยื่นเอกสารและมีคุณสมบัติตามกฎหมาย เช่น ไม่ใช่เป็นคนต่างด้าว เป็นทรัพย์สินส่วนตัว เป็นต้น ก็สามารถจดทะเบียนได้ และยอมรับว่าตอนนี้มีหลายรูปแบบในการเข้ามาถือครอง เช่น การจดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติ แต่กระบวนการพิสูจน์ว่าทรัพย์สินที่นำมาซื้อที่ดินเป็นสินสมรสหรือส่วนตัว ประกอบกับกฎหมายปัจจุบันได้เปิดโอกาสให้ผู้หญิงที่สมรสแล้วสามารถใช้คำนำหน้านามว่านางสาวได้ยิ่งเป็นปัญหาเข้าไปอีกเพราะตรวจสอบได้ยากมากว่าเป็นนอมีนีหรือไม่ นอกจากนี้ ในทางปฏิบัติแต่ละวันมีผู้เข้ามาจดทะเบียนกับกรมที่ดินเยอะมาก ดังนั้น การตรวจสอบจึงมีข้อจำกัด
ด้านพ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) กล่าวว่า ป.ป.ง.เป็นหน่วยงานที่ต้องรับรายงานการทำธุรกรรมการซื้อขายที่ดินด้วยเงินสดเกิน 2 ล้านบาท แต่ตอนนี้พบว่ามีการเลี่ยงกฎหมายด้วยการทำขนาดของธุรกรรมให้เล็กลงโดยไม่ให้เกิน 2 ล้านบาทเพื่อไม่ต้องรายงานป.ป.ง. เพราะฉะนั้น การแก้ไขปัญหาจำเป็นอย่างยิ่งต้องได้รับความร่วมมือจากกรมที่ดิ
ข้อมูลจาก  กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

วันศุกร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2555

การประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม วันที่ 2 มี.ค.55 ที่ทำเนียบรัฐบาล

พี มูฟหอบปัญหาชาวบ้าน ที่ดิน โฉนดชุมชน เขื่อนปากมูล คนไร้บ้าน ชาวเล โรงไฟฟ้า เกษตรพันธะสัญญา ทวงความคืบหน้าแก้ปัญหาจากรัฐบาล การประชุมเหลว “วรวัจน์” ปัดให้ไปเริ่มเก็บข้อมูลใหม่


วันที่ 2 มี.ค.55 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ระหว่างรัฐบาล โดยมีนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมแทนนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรี และเครือข่ายชาวบ้านในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ซึ่งได้มาติดตามความคืบหน้าและเร่งให้รัฐบาลการแก้ปัญหาในประเด็นต่างๆ อาทิ  เขตปฏิรูปที่ดิน(สปก.)จ.สุราษฎร์ธานี ของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) กรณีคนไร้บ้าน ที่อยู่อาศัยและสินเชื่อคนจนเมือง ฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล เขื่อนปากมูล เกษตรพันธะสัญญาและปัญหาเหมืองแร่ชีวมวล โรงไฟฟ้าแม่เมาะ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการประชุมเต็มไปด้วยความเคร่งเครียด โดยที่ประชุมหยิบยกกรณีที่ดิน สปก.สุราษฎร์ธานี เป็นเรื่องเร่งด่วนในการพิจารณา เนื่องจากมีการข่มขู่ชาวบ้านในพื้นที่ที่ถือครองสิทธิโฉนดชุมชน นายกฤษกร ศิลารักษ์ ผู้ช่วยเลขานุการพีมูฟ กล่าวว่าไม่ว่ากรณีที่ดิน สปก.สุราษฎร์ธานี และอื่นๆ รัฐบาลควรยุติการดำเนินคดีทั้งแพ่งและอาญากับชาวบ้านก่อน เพราะถือว่าอยู่ระหว่างกระบวนการแก้ปัญหาร่วมกัน ทั้งนี้ในบางพื้นที่ได้ข้อยุติในการแก้ปัญหากับรัฐบาลแล้ว แต่ในทางปฏิบัติชาวบ้านกลับยังถูกดำเนินคดี ถูกลอบทำร้ายจากกลุ่มอิทธิพลในพื้นที่ เช่น พื้นที่โฉนดชุมชน อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี ที่ได้ข้อยุติการแก้ปัญหาแล้ว หรือพื้นที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ เช่น บ้านเก้าบาตร อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ บ้านบ่อแก้ว อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ
เครือข่ายประชาชนจึงเรียกร้องให้สำนักอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีหนังสือเวียนยังหน่วยงานใต้บังคับบัญชาในสังกัดให้ยุติและชะลอการดำเนิน คดีกับชาวบ้าน พร้อมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหา โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน
ด้าน นายวรวัจน์  กล่าวว่า รัฐบาลตั้งใจแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะที่ดินทำกินที่ชาวบ้านเรียกร้องให้รัฐจัดสรรพื้นที่อย่างยุติธรรมใน รูปแบบต่างๆ รวมถึงโฉนดชุมชน แต่เมื่อตั้งกฎเกณฑ์ดำเนินการร่วมกันแล้ว ประชาชนต้องไม่บุกรุกป่าเพื่อเป็นแหล่งทำกินเพิ่ม หากยังมีการบุกรุกรัฐบาลจะไม่ให้ความช่วยเหลือใด ๆ อีก ส่วนกรณีที่ดิน สปก.และการแก้ปัญหาที่ดินนั้นตนจะให้มีการตรวจสอบข้อมูลพื้นที่ปัญหาและทำ แผนที่ถาวร พร้อมแต่งตั้งอนุกรรมการพิจารณาแต่ละกรณีก่อน จึงจะสามารถพิจารณาต่อได้ ซึ่งคงต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 เดือน
“ตอนนี้ยังตัดสินใจอะไรไม่ได้ เพราะยังไม่มีข้อมูลอะไรเลย พรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนภาคใต้ครั้งเป็นรัฐบาลยังทำไม่ได้เลย ผมเป็น ส.ส.ภาคเหนือจะทำได้อย่างไร”
ทั้งนี้นายไมตรี จงไกรจักร กรรมการพีมูฟ เปิดเผยหลังการประชุมว่าไม่พอใจการทำหน้าที่ประธานประชุมของนายวรวัจน์ ซึ่งไม่รับฟังปัญหาประชาชน ได้แต่อ้างว่ายังไม่สามารถสรุปแนวทางแก้ปัญหาได้ เพราะยังไม่ได้รับรายงานข้อมูล นอกจากนี้ยังแสดงท่าทีสั่งการแบบซีอีโอแก่ข้าราชการและประชาชน
 “เครือข่ายชาวบ้าน คงรอนโยบายการแก้ปัญหาที่นายวรวัจน์ต้องการเริ่มนับหนึ่งใหม่ โดยไม่สนใจข้อมูลเดิมที่เคยมีมาไม่ได้ เพราะขณะนี้ชาวบ้านในพื้นที่กำลังจะถูกไล่รื้อและถูกดำเนินคดี จึงเรียกร้องให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ปัญหาชุดนี้ ลงมาคุยกับเครือข่ายเองในการประชุมครั้งต่อไป” นายไมตรีกล่าว
 ทั้งนี้ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ เป็นการรวมตัวกันของเครือข่ายปัญหาชาวบ้านในด้านต่างๆ ประกอบด้วยเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย เครือข่ายสลัม 4 ภาค สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ ชมรมประมงพื้นบ้านจ.ตรัง กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้พิบูลมังสาหาร และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบโรงไฟฟ้าชีวมวลและคัดค้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อุบลราชธานี


ข้อมูลจาก  http://www.isranews.org  ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน  สำนักข่าวอิสรา