วันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การฝึกอบรมการใช้งานระบบกำหนดตำแหน่งบนพื้นโลก (GPS) ร่วมกับ การจัดทำฐานข้อมูลGIS (Point,Line,Polygon) ด้วยโปรแกรมQuantum GIS


ปัญหาเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเป็นปัญหาใหญ่เรื่องหนึ่งของจังหวัดเชียงราย  หลังจากสถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ ในประเทศ  ทิศทางการเปิดการค้าเสรีไทยจีน ในปี พ.ศ. ๒๕๕๘   เกิดโครงการพัฒนาถนน สาย R3A และท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ ๒  และสะพานข้ามแม่น้ำโขง อำเภอเชียงของ  และเตรียมสร้างนิคมอุตสาหกรรม  ในอำเภอเชียงของ  นั้น   ปรากฎการณ์ดังกล่าว  ทำให้ที่ดินมีราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว   มีการกว้านซื้อที่ดินเพื่อหนีน้ำท่วม   ไว้เกร็งกำไรของนายทุน  และเตรียมพัฒนาเป็นรีสอร์ท และอื่น ๆ  อีกมากมาย  โดยที่ดินนั้นมีทั้งเอกสารสิทธิ์  และอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ    ส่งผลกระทบให้ชุมชนอย่างหนัก หนำซ้ำชาวบ้านยังถูฏแจ้งความดำเนินคดีกับกับเกษตร   กลายเป็นปัญหาสังคมและปัญหาความเหลื่อมล้ำอยู่ในเวลานี้ โดยเฉพาะเกษตรกรที่เข้าไปทำกินในเขตป่ายังต้องถูกดำเนินคดีเรียกค่าเสียหายในข้อหาทำลายทรัพยากรเป็นจำนวนสูงถึงไร่ละ 160,000 บาทต่อไร่ต่อปี จนเป็นประเด็นถกเถียงอยู่ในเวลานี้ถึงความไม่เป็นธรรม
          ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๙  เครือข่ายปฏิรูปที่ดินจังหวัดเชียงราย  ได้มีกระบวนการทำงานและกำหนดแนวทางต่อการแก้ไขปัญหาที่ดินและเข้าร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย  รวมถึง ขบวนประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม : Pmove   จนถึงปัจจุบัน
          ขณะเดียวกันชุมชนและสภาองค์กรชุมชนตำบล  ได้มีการเชื่อมโยงและพัฒนาพื้นที่รูปธรรมและพัฒนาระบบข้อมูลไปพร้อมกับการผลักดันนโยบายสู่รัฐบาลให้ช่วยดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ระดับหนึ่งและมีเพียง  ๕ หมู่บ้าน  ที่สามารถพัฒนาระบบข้อมูลและขอจัดโฉนดชุมชนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชนได้  ส่วนหมู่บ้านอื่น ๆ  ยังมีข้อติดขัดเรื่องการจัดทำข้อมูลแผนที่ GIS  ซึ่งมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายสูงมาก  และเป็นข้อมูลสำคัญที่ คณะกรรมการประสานงานว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.)  ใช้ประกอบในการพิจารณาให้ความเห็นชอบ
          เครือข่ายปฏิรูปที่ดินจังหวัดเชียงราย จึงจัดฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะคณะทำงานระดับชุมชน/ตำบล  ให้สามารถจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับขอบเขตหมู่บ้านและข้อมูลรายแปลงของสมาชิกในชุมชน  ตลอดจนฐานข้อมูลสู่ตำบลจัดการตนเอง จังหวัดจัดการตนเองต่อไป  
      วัตถุประสงค์การจัดกิจกรรม  เพื่อพัฒนาคณะทำงานในการเรียนรู้  การจับ GPS  ได้
เพื่อให้คณะทำงานชุมชน/ตำบล สามารถจัดทำข้อมูลขอบเขตชุมชนและข้อมูลรายแปลง ในรูปแบบ GIS เบื้องต้นขึ้น  ในวันที่ ๒๐-๒๑  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๕   ณ  มูลนิธิพัฒนาชุมชนในเขตภูเขา  มีผู้เข้าร่วมฝึกอบรมจำนวน ๑๔ คน  จาก ๘ ตำบลที่มีการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาที่ดินโดยองค์กรชุมชน
           ผลการฝึกอบรมในครั้งนี้  เป็นการใช้โปรแกรมที่เป็นภาษาไทยง่ายต่อความเข้าใจและนำไปใช้ต่อของคณะทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพี่น้องชาติพันธุ์  มีการฝึกปฏิบัติจริง  ผู้เข้าฝึกอบรมพอใจผลการฝึกอบรมเป็นอย่างมาก  และมีความมั่นใจในการในไปใช้พัฒนาข้อมูลของชุมชนได้  และยังมีแผนงานแนวทางร่วมกันต่อไปอีก ๓ เดือน  จะนำผลการดำเนินงานของแต่ละพื้นที่มานำเสนอและฝึกอบรมเพื่อยกระดับความรู้ด้านเทคนิคชั้นสูงต่อไป   
           เครือข่ายปฏิรูปที่ดิน จังหวัดาเชียงราย  ขอขอบคุณทีมวิทยากรและสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)  ที่ให้ความสำคัญและสนับสนุนพัฒนาศักยภาพองค์กรชุมชนตลอดมา
        

วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การจัดการที่ดินรูปแบบใหม่ กรณีที่สาธารณะประโยชน์บ้านสมานมิตร ต. ดอนศิลา อ. เวียงชัย จ. เชียงราย


ความเป็นมา
บ้านสมานมิตร มีชื่อเดิมชื่อว่า“บ้านดงเย็น”ซึ่งเรียกตามลักษณะภูมิศาสตร์ ที่มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์และหนองน้ำล้อมรอบทั้ง 3 ด้าน และผืนดินอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก ต่อมาได้แยกออกจากบ้านช่องลม หมู่ที่ 2  ต.ผางาม  เมื่อปี พ.ศ.2520  โดยนายเรียบ  นราดิศร     หัวหน้ากิ่ง อ.เวียงชัยในขณะนั้น ใช้ชื่อหมู่บ้านว่า“ บ้านสมานมิตร” ตามนามสกุลของ นายประหยัด สมานมิตร ที่ถูกผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ยิงเสียชีวิตในสมัยนั้น ในพ.ศ. 2524 ได้แยกไปอยู่เขตการปกครองของตำบลดอนศิลา อ.เวียงชัย จ.เชียงรายถึงปัจจุบัน ประชากรส่วนใหญ่โยกย้ายถิ่นฐานจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด คือ นครราชสีมา,ขอนแก่น,กาฬสินธุ์,มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด,สกลนคร,อุดรธานี, สุรินทร์ และจังหวัดอื่นๆ ในระยะต่อมากลุ่มบุคคลที่พามาก่อตั้งหมู่บ้านดงเย็น (บ้านสมานมิตร) คือ นายหนู อนุอินทร์,นายบุญทา คำชู,นายหนุ่ย ศรีตัน,นายคำลา  แก้วศิลา และนายหมุน ชมภูวิเศษ   ซึ่งเป็นจุดภูมิศาสตร์เหมาะแก่การเพาะปลูกและทำประมง  มีจำนวนประชากร รวม 629  คน 148 ครัวเรือน  ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา  และประมง  เป็นหลัก  ส่วนฤดูที่ว่างจากการทำนา  จะทำสวนมันสำปะหลัง    ข้าวโพด  และเลี้ยงสัตว์  (วัว  ควาย หมู  ปลา)  และมีอาชีพเสริมคือการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม  ซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมจากภาคอีสาน  นอกจากนี้ยังคงดำรงวิถีวัฒนธรรมชุมชนตามแบบชุมชนดั้งเดิม  โดย ยังมีการจัดงานประเพณีต่างๆของชาวอีสาน เช่น ประเพณีบุญบั้งไฟ ประเพณีบุญพระเวศน์ ประเพณีบุญข้าวจี่  ประเพณีบุญเบิกบ้าน ฯลฯ

สภาพภูมิประเทศหมู่บ้าน เป็นที่ราบลุ่มระหว่างเชิงเขา อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 313 เมตร   มีพื้นที่โยประมาณ 2,300  ไร่  แบ่งเป็น ที่อยู่อาศัย 20 ไร่,โรงสีข้าวชุมชน 5 ไร่,ที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม 15 ไร่,ที่นารวม 500 ไร่,ที่พืชสวน/พืชเศรษฐกิจ 200  ไร่, ฟื้นฟูป่าชุมชน60ไร่,ที่ป่าชุมชน 150 ไร่, ที่ป่าอนุรักษ์ 1,000 ไร่ และที่แหล่งน้ำอนุรักษ์พันธุ์ปลา 350 ไร่  โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ เหมาะสำหรับการทำนา    เนื้อที่ทำการเกษตร ประมาณ 625 ไร่  พื้นที่ตั้งอยู่ ลุ่มน้ำลาวตอนใต้,ลุ่มน้ำกกตอนกลาง และแม่น้ำโขงตอนกลาง  ตั้งอยู่ที่พิกัด 47 QNB 992-947 ระวางแผนที่ 1:50,000 หมายเลข 4948 I  หรือประมาณ  ละติจูด 90 องศา 52 ลิปดา 37 ฟิลิปดา  ตะวันออก  เป็นเขตร้อนชื้น และมีความหลากหลายทางชีวภาพ ตั้งอยู่ติดหนองหลวงซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่อุดมสมบูรณ์และใหญ่ที่สุดของ จังหวัดเชียงราย    

ระบบความสัมพันธ์ของชุมชนบ้านสมานมิตร จัดระบบในลักษณะ “คุ้มบ้าน” ในคุ้มบ้านเดียวกัน ประกอบด้วยระบบเครือญาติเดียวกัน ร่วมผีปู่ย่าเดียวกัน อพยพโยกย้ายตั้งบ้านเรือนอยู่ด้วยกัน โดยมีผู้อาวุโสสุดของคุ้มบ้านขึ้นมาดูแล เรียกว่า  “เจ้าโคตร  เป็นผู้มีปัญญา รอบรู้ความชำนาญเฉพาะทาง ได้รับการยอมรับนับถือ และยกย่องเป็นผู้นำด้านต่างๆ ทำหน้าที่ช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา ตามหลักคุณธรรม และความถนัดเฉพาะตน บางคนเป็นหมอธรรม หมอยา หมอส่อง หมอผีฟ้า  หมอแคน หมอลำ คนในชุมชนจึงต้องพึ่งพาอาศัยกลุ่มคนเหล่านี้ในการดำเนินชีวิต ในขณะเดียวกันเรียนรู้และถ่ายทอดรุ่นต่อรุ่นให้เกิดความต่อเนื่องในการทำงาน ไปด้วยกัน
ที่ดินเปลี่ยนมือ: ชุมชนเปลี่ยนแปลง
ผู้นำชาวบ้านหลายคนเอ่ยเป็นเสียงเดียวกันว่า ตั้งแต่ยุคนายกรัฐมนตรีชาติชาย  ชุณหวัณ ที่ดินมีราคาสูงขึ้น เอกชนเริ่มเข้ามากว้านซื้อที่ดินรอบหมู่บ้าน ขณะเดียวกันในปี พ.ศ. 2533 ข้าราชการท้องถิ่น (นายอำเภอ) เข้ามาหว่านล้อมให้ชาวบ้านขายที่ดินให้เอกชน โดยอ้างว่า เอกชนจะสร้างความเจริญให้กับหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านเริ่มขายที่ดิน ทั้งที่ไร่ ที่นา ในราคาไร่ละ 20,000 บาท – 40,000 บาท เพื่อให้นายทุนทำสวนส้ม รวมเนื้อที่ที่ชาวบ้านขายไปทั้งสิ้นกว่า 2,000 ไร่ ในขณะที่พื้นที่ดังกล่าวไม่มีเอกสารสิทธิ์ใดๆ ทั้งสิ้น แต่นายทุนก็สามารถทำให้พื้นที่ดังกล่าวออกเอกสารสิทธิ (โฉนด) ได้  ชาวบ้านบางคนเมื่อขายที่แล้ว ต้องไปซื้อที่นาใหม่ในจังหวัดอื่นๆ ทั้งจังหวัดพะเยา กำแพงเพชร นครสวรรค์ ส่วนชาวบ้านบางครอบครัวเมื่อขายที่แล้วไม่ได้โยกย้ายไปอยู่ที่อื่น แต่ก็ต้องเช่าที่จากนายทุนเพื่อทำนา (ซึ่งเป็นพื้นที่เดิมของตนเอง)  ในราคาเช่า ไร่ละ 500 บาท ทำให้ชุมชนกลายเป็นยามเฝ้าที่ดินให้นายทุนก็มี
ที่ดินในพื้นที่บ้านสมานมิตรที่ชุมชนถือครอง และเป็นเจ้าของจาก 185 ครอบครัวเหลือที่ดินที่เป็นของตัวเอง 62 ครอบครัวหรือเฉลี่ยร้อยละ 50 ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมดในหมู่บ้าน ทำให้ชุมชนสรุปร่วมกันว่า กลุ่ม ทุนเข้าไปที่ใด การผูกขาดและรวมศูนย์อำนาจของรัฐในการจัดการทรัพยากรฯ ในขณะที่กีดกันการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นก็จะเกิดขึ้น ชุมชนจึงสูญเสียที่ดินทำกิน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ดังกล่าว ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อชุมชนเรื่อยมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2521 กระทั่งถึงปัจจุบัน กล่าวคือ
            เมื่อปี พ.ศ.2521 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินให้พื้นที่อำเภอเวียงชัย ทั้งอำเภอเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน
เมื่อปี พ.ศ. 2537  กรมที่ดินได้ออกใบจอง (น.ส.2) ในที่อยู่อาศัยให้กับชาวบ้านจำนวน 110 ครอบครัวไม่สามารถนำไปออกเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือโฉนดที่ดินได้ เนื่องจาก ส.ป.ก.ได้แจ้งคัดค้านเอาไว้ว่า ที่ดินอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน จะดำเนินการออกโฉนดไม่ได้  ในขณะที่ดินของเอกชน สามารถออกเอกสารสิทธิได้  เป็นจำนวนมาก
ในส่วนที่อยู่อาศัย  ยังมีข้อขัดแย้ง ว่าจะออกเอกสารสิทธิชนิดใด ? ให้กับชาวบ้าน เนื่องจากเป็นเรื่องของหน่วยงานทางราชการขัดแย้งกันเอง โดยกรมที่ดินต้องการออกโฉนดที่ดินให้กับชาวบ้าน  แต่ ส.ป.ก.คัดค้าน  แต่ชาวบ้านสมานมิตรก็เรียกร้องการแก้ไข ตลอดมา  กับรัฐบาลทุกสมัย
ในขณะที่ ที่สาธารณะรอบหมู่บ้าน เนื้อที่ประมาณ 2,300ไร่ ที่ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน เก็บหาของป่า ไม้ฟืน และเลี้ยงสัตว์ เมื่อประมาณ ปี 2530 มีนายทุนจากภายนอกได้เข้าไปยึดที่เหล่านั้นโดยอ้างว่า ตนเองซื้อจากชาวบ้าน และปลูกไม้ยูคาลิปตัส และพืชยืนต้น เป็นจำนวนมาก และบางที่ก็ทำเป็นร่องน้ำ ทำให้ไม่สามารถเข้าไปทำประโยชน์ได้เหมือนเดิม
เมื่อปี พ.ศ.2532  มีการปั่นราคาที่ดิน  ในสมัย พล.เอก ชาติชาย ชุณหวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี และประสบกับภาวะเศรษฐกิจเหมือนฟองสบู่แตก  ที่ดินของจังหวัดเชียงรายถูกปั่นราคาขึ้นอย่างมหาศาล    ทำให้เกษตรกรในหมู่บ้าน รวมทั้งเกษตรกรทั่วไปต้องขายที่ดินที่มีอยู่เพราะได้ราคาสูง  เนื่องจากการไม่ทราบแนวเขตหนองที่ชัดเจน ส่งผลให้มีการนำที่ดินสาธารณะไปขายให้กับเอกชนเป็นจำนวนมาก
หลังจากขายที่ดินให้กับนายทุนเกษตรกรบ้านสมานมิตร 30  ครอบครัวต้องอพยพโยกย้ายไปอยู่ต่างจังหวัด และมีบ้างหลายครอบครัวต้องอพยพไปขายแรงงานที่เมืองหลวง    ส่วนที่ไม่โยกย้ายไปไหนก็อยู่ในสภาพสูญเสียที่ดิน  ต้องทำนาเช่าเอกชนที่ซื้อที่ดินของตนเองไป  เพื่อเลี้ยงชีพ  หรือไม่ก็เป็นยามเฝ้าที่ดินของตนเองให้นายทุนก็มี   ปัจจุบันเกษตรกรที่ไม่มีที่ทำกินเป็นของตนเองมีมากถึง 50%ของจำนวนครอบครัวทั้งหมดในหมู่บ้าน ที่สาธารณะของหมู่บ้านสมานมิตร  จึงเป็นหัวใจสำคัญของชุมชนที่ยังสามารถใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากร  ในการใช้ประกอบอาชีพเพื่อยังชีพและวิถีชีวิตชุมชนให้ดำรงอยู่ได้จนถึง ปัจจุบัน
            เมื่อปี พ.ศ.  2548  เกิดกรณีพิพาท  ข่มขู่  ระหว่างนายทุนที่ปลูกต้นยูคาลิปตัสกับราษฎรหมู่บ้านสมานมิตรบนพื้นที่ที่สาธารณะประโยชน์ขึ้นสามารถไกล่เกลี่ยได้ระดับหนึ่ง  แต่ยังมีข้อพิพาทต่อมาอย่างต่อเนื่องจึงถึงปัจจุบันโดย พื้นที่สาธารณะที่ถูกกันเขตจากที่เอกชน เนื้อที่ประมาณ 2,500 ไร่ – 3,587 ไร่เศษ รวมทั้งพื้นที่ชุ่มน้ำฝั่งตะวันออกของหนองหลวง เพื่อป้องกันการบุกรุกจากเอกชนภายนอก ชุมชนมีมติเห็นชอบที่จะดูแลและใช้ประโยชน์ร่วมกัน ต้องการเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนดชุมชน จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ประมาณ 3,587 ไร่ ด้วยเหตุผลอนาคตข้างหน้า จะไม่สูญเสียสิทธิชุมชน ให้แก่สิทธิปัจเจกชน รายใดอีก
ฐานคิดในการจัดการที่ดินและทรัพยากรชุมชนบ้านสมานมิตร
ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาชุมชนได้มีการสำรวจและศึกษาสภาพปัญหาทั่วไปของคนใน ชุมชน ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาที่ดิน ซึ่งพบว่า โดยส่วนใหญ่แล้วชุมชนประสบกับปัญหาหลักๆ ได้แก่ ปัญหาการขาดที่ทำกิน ,ปัญหาการถือครองที่ดิน / ขาดเอกสารสิทธิที่ดิน,ปัญหาการจัดการน้ำ , ปัญหาหนี้สินเกษตรกร, ปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ,ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมในชุมชนและการใช้ สารเคมีทางการเกษตร ,ปัญหาที่ดินรกร้างว่างเปล่าของเอกชน/ ไม่เสียภาษี /ขูดรีดค่าเช่านา และปัญหาการบุกรุกที่สาธารณะ และการออกโฉนดทับที่ป่า  ซึ่งจากสภาพปัญหาดังกล่าวชุมชนบ้านสมานมิตรจึงเกิดการระดมแนวทางในการหา ทางออกให้กับปัญหาที่เกิดขึ้น  โดยมีฐานคิดสำคัญ กล่าวคือ
  • ฐานทรัพยากร(ดิน น้ำ ป่า)ที่อยู่กับชุมชนใด ชุมชนนั้นย่อมมีสิทธิเป็นเจ้าของและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรนั้น
  • สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรนั้น ย่อมได้รับการรับรองสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.2550
  • การทำลายฐานทรัพยากรในชุมชนและการฝ่าฝืนกฎชุมชนท้องถิ่น ชุมชนมีสิทธิ์ที่จะปกป้อง และดำเนินการให้เป็นไปตามกฎระเบียบของชุมชน
  • ที่ดิน และทรัพยากร ไม่ใช่สินค้า  แต่เป็นแหล่งเพาะพันธุกรรมทั้งพืชและสัตว์  เป็นแหล่งอาหาร  ยารักษาโรค  และเป็นวิถีชีวิตที่พึ่งพิงอาศัยกัน
  • ที่ดินเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของเกษตรกร  ชุมชน  
  • ที่สาธารณะประโยชน์ของชุมชนจะต้องเป็นโฉนดชุมชนและใช้ผลประโยชน์ร่วม
  • ต้องมีกองทุนในการจัดการที่ดินและการพัฒนาการใช้ที่ดินร่วมกัน
  • ที่ดินไม่หลุดมือ  ไม่เสียสิทธิ์ (สิทธิชุมชน)  ให้กับสิทธิเชิงปัจเจกในอนาคต
กระบวนการทำงานของชุมชน
  • กระบวนการติดตามเคลื่อนไหว สร้างความเป็นธรรม การจัดการที่ดินโดยชุมชน
          นายวิรัตน์  พรมสอน  ร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  กรณีที่ดินที่อยู่อาศัยของชุมชนไม่ได้รับการออกสารสิทธ์ และการบุกรุกที่สาธารณะของนายทุน
กรกฎาคม 2547        อนุกรรมการฯ  ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่ดินบ้านสมานมิตร
8 มีนาคม 2548  นายอำเภอเวียงชัย  ได้ออกหนังสืออำเภอเวียงชัยที่ ชร 0717.1/752  ลงวันที่  8 มีนาคม 2548  และ ที่ ชร.0717.1/1014   ลงวันที่ 29  มีนาคม 2548  แจ้งให้ผู้บุกรุกและครอบครองออกจากพื้นที่และห้ามแสวงหาประโยชน์จากไม้ยืน ต้นที่ปลูกไว้
8 ธันวาคม 2548  นายอำเภอเวียงชัย (นายเข็มทอง ม่วงสุข)  ออกหนังสือคำสั่งอำเภอเวียงชัย ที่ 473/2548  เรื่อง  แต่งตั้งคณะกรรมการดูแลสิ่งแวดล้อม
16  มกราคม  2549  นายอำเภอเวียงชัย (นายศักดิ์ชาย  วงศ์กนิษฐ์)  ได้ออกหนังสือคำสั่งที่ 15/2549  ลงวันที่ 16  มกราคม  2549  แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี นายทุน             (นายสมศักดิ์  ปัญญาวิชา)  ราษฎรหมู่ที่ 3  ตำบลดอนศิลา ได้ลักลอบเข้าไปตัดไม้ยูคาลิปตัสในเขตพื้นที่ที่สาธารณะประโยชน์ (หนองหลวง)
20  มกราคม  2549  คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ  ลงพื้นที่  ผลปรากฏว่ามีการตัดไม้ยูคาลิปตัสตามที่มีการร้องเรียนจริง
31  มกราคม 2549  นายอำเภอเวียงชัย ออกจดหมายที่ ชร0717.3/298  ลงวันที่  31  มกราคม 2549    ถึงนายกองค์กรบริหารส่วนตำบลดอนศิลา    มอบหมายให้องค์การบริหารส่วนตำบลดอนศิลา  แจ้งความร้องทุกข์/กล่าวโทษ  กับนายสมศักดิ์  ปัญญาวิชา  ความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา 9  และมาตรา  108  ทวิ  วรรคสองแก้ไขเพิ่มเติมข้อ    ของประกาศคณะปฏิบัติฉบับที่ 96  (พ.ศ. 2525)  และรายงานผลต่อนายอำเภอทราบต่อไป
12  ตุลาคม 2549   นาย วิรัตน์  พรมสอน  ได้ออกจดหมาย ที่ สม. 1210/2549  ลงวันที่  12  ตุลาคม 2549   ร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเชียงราย   ว่านายบุญเพ็ง  จันทร์น้อย  สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลดอนศิลา  หมู่ที่ 1  ประพฤติมิชอบ สร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในหมู่บ้านในเรื่องการแก้ไขปัญหาการบุกรุกและ ลักลอบตัดไม้ยูคาลิปตัสในที่สาธารณะประโยชน์
นายบุญเพ็ง  จันทร์น้อย ได้ประกาศเสียงตามสายจริง ประกอบกับไม่ชอบพฤติกรรมส่วนตัวของนายวิรัตน์  พรมสอน และไม่ขอรับตำแหน่งที่ปรึกษาคณะกรรมการดูแลสิ่งแวดล้อมที่ทางอำเภอแต่งตั้ง  แต่ขอดูแลสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ  ในชุมชนแทน 
พฤศจิกายน 2549  ทางอำเภอเวียงชัยพิจารณาแล้วให้ความเห็นว่า   เป็นข้อขัดแย้งทางความคิด  และมีความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน   ทางอำเภอจึงเรียกประชุมราษฎรและคณะกรรมการดูแลสิ่งแวดล้อมที่อำเภอได้แต่ง ตั้งไว้   ทำความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของทุกฝ่ายภายในหมู่บ้าน  และหากอำเภอยินดีที่จะรับฟังความคิดเห็นของนายวิรัตน์ พรมสอน  ตลอดเวลา  โดยการออกหนังสือ ที่ ชร 0717.1/3138  ลงวันที่   7  พฤศจิกายน 2549  แจ้งให้นายวิรัตน์  พรมสอนทราบ
25 สิงหาคม 2551  องค์การบริหารส่วนตำบลดอนศิลา    สำนักงานที่ดินอำเภอเวียงชัย  เครือข่ายปฏิรูปที่ดินและทรัพยากรจังหวัดเชียงราย  และคณะกรรมการดูแลสิ่งแวดล้อมบ้านสมานมิตร  ได้ร่วมสำรวจและกันเขตที่สาธารณะประโยชน์  ซึ่งการทำงานค่อนข้างล่าช้า เนื่องจากหลักหมุดสูญหาย
จากการออกเดินสำรวจแนวเขตพบว่า   พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์อยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะต้องพิสูจน์อีกครั้งว่า บริเวณดังกล่าวออกโฉนดโดยชอบหรือไม่  และหากมีการออกโฉนดโดยมิชอบ ชุมชนจะต้องเป็นผู้ดูแลรักษาทรัพยากรตามสิทธิชุมชน  รัฐธรรมนูญปี 2550
ทางสำนักงานที่ดินอำเภอเวียงชัย  แจ้งว่า การประกาศยกเลิกเขต สปก.ออกจากอำเภอเวียงชัยนั้นมีผลให้ ใบจอง(น.ส.2) ในที่อยู่อาศัยให้กับชาวบ้านจำนวน 110 ครอบครัวนั้น  สามารถออกโฉนดในหมู่บ้านได้  แต่ต้องกันแนวเขตที่สาธารณะประโยชน์ออกก่อน ช่วงนี้ส่งผลให้มีการออกโฉนดในรายที่มีใบจอง ประมาณ 60 แปลง เสียค่าใช้จ่ายประมาณ แปลงละ 2000 บาท
พฤศจิกายน 2551    ผู้ใหญ่บ้านบ้านสมานมิตรและนายวิรัตน์  พรมสอน (ในนามสหพันธ์เกษตรภาคเหนือ  ส.ก.น.)   จึงจัดส่งหนังสือร้องเรียนไปยังกรมที่ดิน,ปลัดกระทรวงมหาดไทย ขอให้ออกโฉนดเพิ่มให้เวียงชัยและเชียงรุ้ง เนื่องจาก ทางราชการอ้างว่าไม่มี งบประมาณ ในการดำเนินการ
15  ธันวาคม  2551 เข้าร่วมในนามเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลระดับชาติ  เดินทางไปยื่นข้อเสนอ 9 ข้อให้นายกอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ ที่ทำเนียบรัฐบาล   นายกรัฐมนตรีรับปากและมอบหมายให้คุณหญิงสุพัฒตรา   รับเรื่อง
2-7 กุมภาพันธ์ 2552  เจ้าหน้าที่ที่ดินลงพื้นที่สำรวจ  พื้นที่ /รายที่ตกค้างในส่วนที่อยู่อาศัย  เพื่อ การออกโฉนดเพิ่มเติม   แต่บางรายยังไม่สามารถออกโฉนดให้ได้เนื่องจากไม่มีข้อมูลในการถือครอง   และเจ้าหน้าที่อ้างว่า หาหลักฐานไม่พบ และไม่มีงบประมาณเช่นเคย
มีหนังสือแจ้งมาที่หมู่บ้านขอให้เรื่องยุติ
8-9   กุมภาพันธ์ 2552  เข้าร่วมประชุมสรุปงานประจำปีเครือข่ายปฏิรูปที่ดินและทรัพยากรจังหวัด เชียงราย  ณ  ศูนย์บริการการท่องเที่ยว ภูชี้ฟ้า  ต.ตับเต่า อ.เทิง
10 กุมภาพันธ์ 2552  ตัวแทนชุมชนร่วมกันคณะทำงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย เดินทางยื่นหนังสือให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดิน โดยมีรัฐมนตรีช่วยกระทรวงมหาดไทย  (นายถาวร เสเนียม) ได้มารับข้อเสนอของเครือข่ายเกษตรกร ที่เรียกร้องตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงว่าจะปฏิรูปที่ดินและออกโฉนดชุมชน แต่แล้วก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และการแก้ปัญหาไม่ชัดเจน
4-11 มีนาคม 2552 คณะกรรมการดูแลสิ่งแวดล้อมบ้านสมานมิตร  เดินทางร่วมการชุมนุมกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อติดตามข้อเรียกร้องของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552 ที่ผ่านมา และเครือข่ายก็ ได้ตั้งหลักที่ทำเนียบรัฐบาลและรอทราบวาระการประชุมของรัฐสภา และท่านนายกอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ ก็รับหลักการและแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการและคณะอนุกรรมการ 6 ชุด  ดังนี้
    • อนุกรรมการ ที่สาธารณะประโยชน์ ที่รกร้างว่างเปล่า  ที่เหมืองแร่
    • อนุกรรมการว่าด้วยที่ดินอยู่ในเขตอุทยาน  ป่าสงวนแห่งชาติ ระดับชาติ รอแต่งตั้งอนุกรรมการระดับจังหวัด
    • อนุกรรมการว่าด้วยที่ดิน สปก.
    • อนุกรรมการว่าด้วยที่อยู่อาศัยและสินเชื่อ
    • อนุกรรมการว่าด้วยที่ราชพัสดุ
    • อนุกรรมการว่าด้วยการศึกษาแนวทางปฏิบัตินโยบายการกระจายถือครองที่ดิน
          19  พฤษภาคม 2552  ตัวแทนคณะกรรมการดูแลสิ่งแวดล้อมฯ เข้าร่วมประชุมประชาคมระดับจังหวัด  (ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด) ณ ห้องประชุมบูรณาการ สนามกีฬากลางจังหวัดเชียงราย  ในการระดมความคิดเห็นและเสนอโครงการ ภาพรวมระดับอำเภอ  โดยเสนอโครงการการจัดการที่ดินโดยองค์กรชุมชน   แต่ไม่ได้รับฉันทามติ  เนื่องจาก  สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพื้นที่เขตอำเภอเวียงชัยให้เหตุผลว่า  ไม่เข้าเกณฑ์อำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย  และเป็นเพียงนโยบายเท่านั้น  ไม่มีระเบียบหรือหนังสือสั่งการใดๆ
2. กระบวนการแก้ไขปัญหาและการติดตามนโยบาย
จากปัญหาทั้งหมดนี้ทำให้พบว่า ปมหลักของปัญหาทั้งหมดเป็นเรื่องของ ปัญหาเชิงโครงสร้างในการกระจายอำนาจ  จัดการทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม  การถือกฎหมายคนละฉบับของหน่วยงาน   และไม่สนใจกรอบรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2550   โดยมีขั้นตอนการทำงาน  ดังนี้
  • แกนนำจัดประชุมชี้แจงปัญหาต่อราษฎรในหมู่บ้าน
  • สรุปปัญหา ทำหนังสือเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง/รับทราบคำตอบ
  • ร้องเรียนขอความเป็นธรรม
  • รวมตัวกันกับแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ
  • ชุมนุมเรียกร้อง ร่วมกับสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ต่อรัฐบาล
  • ได้กรรมการเพื่อการแก้ไขปัญหา
  • คณะอนุกรรมการลงพื้นที่ เมื่อเดือน  กรกฎาคม 2547
  • ทำข้อตกลง วางแผนการจัดการที่ดินโดยชุมชน
  • ตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาในหมู่บ้าน/กรรมการสิ่งแวดล้อม/ติดตามความคืบหน้า
  • ผลักดันนโยบายโฉนดชุมชนและดำเนินการออกโฉนด ,โฉนดชุมชน และวางแผนในการใช้ประโยชน์ที่ดินในระยะยาว
3.การบริหารจัดการที่ดิน
การบริหารจัดการ และการใช้ประโยชน์ร่วมกันของชุมชน เป็นไปตามข้อปรึกษาหารือของคณะกรรมการ ดูแลสิ่งแวดล้อมบ้านสมานมิตร และสมาชิกในชุมชนร่วม  กันกำหนด  ตามคำสั่งอำเภอเวียงชัย 473/2549  โดยมีกรอบทิศทางเป้าหมาย  คือ  คนในชุมชนต้องใช้ประโยชน์ร่วมกัน  ในการอนุรักษ์  ดูแลรักษา  ฟื้นฟู   และพัฒนาการจัดการให้ดียิ่งขึ้นไป  ในรูปแบบโฉนดชุมชน  และกองทุนที่ดินในการบริหารจัดการและป้องกันไม่ให้ที่ดินหลุดมือจากเกษตรกร  หรือ ถูกบุกรุกจากนายทุนเอกชน  หรือชาวบ้านรายบุคคล   และเป็นพื้นที่นำร่องในการพัฒนารูปแบบการจัดการที่ดินโดยองค์กรชุมชน  “โฉนดชุมชน”  ตามนโยบายรัฐบาล  นายกอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ  และปัจจุบันชุมชนมีการดำเนินการแล้วระดับหนึ่ง  เช่น  มีการกันเขต  มีกองทุนทรัพยากรที่ดินของชุมชน  มีการจัดสรรพื้นที่และพัฒนาการใช้ประโยชน์โดยประมาณ  ดังนี้
  • การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากร(ป่าชุมชน  หนองน้ำ  พันธุ์ปลา)  พื้นที่ประมาณ  1,000  ไร่
  • การใช้ประโยชน์ที่ดินด้านเศรษฐกิจและพัฒนาอาชีพ  พื้นที่ประมาณ     500  ไร่ ประกอบด้วย  แปลงเพาะพันธุ์ข้าวอินทรีย์   200        ไร่,  แปลงปลูกม่อนเลี้ยงไหม 20 ไร่, แปลงปลูกไม้ยืนต้น(ไม้ท้องถิ่น/ไม้เศรษฐกิจ)   380ไร่ (ไม้ผล   ไม้ตะกู  ต้นงิ้ว  มะค่า  สัก   ยางนา   ฯลฯ)     
  • การจัดสรรประโยชน์เป็นสวัสดิการที่ไม่ใช่ตัวเงิน (ไม่เสียค่าเช่าและมีที่ดินทำกิน)  และรายได้ผลผลิตรวม จำนวน 30  เปอร์เซ็นต์  สมทบกองทุนสวัสดิการชุมชนท้องถิ่น  ต.ดอนศิลา  และค่าตอบแทนกรรมการอื่น ๆ  ตามระบุในระเบียบข้อบังคับของคณะกรรมการดูแลสิ่งแวดล้อมบ้านสมานมิตร
  • แผนงานสืบสานภูมิปัญหาและพัฒนาแนวทางในการพึ่งตนเองตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
  • แผนประสานความร่วมมือกับชุมชน  ตำบล  อำเภอ ใกล้เคียง  ในการจัดการทรัพยากรร่วมกัน
4.กลไกคณะกรรมการดูแลสิ่งแวดล้อม
กำหนดให้มีคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุดเพื่อทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการดูแลสิ่งแวดล้อม   และเพื่อให้การทำงานของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านเป็นไปด้วยความเรียบ ร้อย คล่องตัว และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อหมู่บ้านตลอดจนชุมชนใกล้เคียง โดยมีแบ่งบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการ ออกเป็น 3 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการที่ทำหน้าที่ดูแลเขตฐานทรัพยากรทั่วไป ดิน/น้ำ/ป่า,คณะทำงานที่ทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการดำเนินการพื้นที่นารวม ชุมชน และคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการดำเนินการพื้นที่ไร่เกษตรชุมชน
5.กำหนดกฏระเบียบ/ข้อบังคับการใช้ที่ดินและทรัพยากรหมู่บ้านสมานมิตรพ.ศ. 2549 โดย อาศัยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ.2540  มาตราที่  46,56 และ 69  และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550  มาตรา  66  ,67   คณะกรรมการดูแลสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านสมานมิตร ม.1 ต.ดอนศิลา  อ.เวียงชัย จ.เชียงราย  จึงได้ตั้งกฎระเบียบของหมู่บ้าน เกี่ยวกับการใช้และรักษาทรัพยากรธรรมชาติด ประกอบด้วยหมวดต่างๆรวม  9 หมวด ได้แก่ หมวดที่ 1 บทความทั่วไป , หมวดที่ 2 วัตถุประสงค์,หมวดที่ 3  คุณสมบัติของสมาชิก,หมวดที่ 4 การลงหุ้น,หมวดที่  5  การเก็บรักษาเงินกลุ่มฯ ,หมวดที่ 6  รายได้ของกลุ่ม,หมวดที่ 7 หน้าที่ของสมาชิกและคณะกรรมการกลุ่มฯ,หมวดที่ 8 บทลงโทษของหมู่บ้าน , หมวดที่ 9 การแบ่งปันผลประโยชน์
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
  • กระบวนการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้มีการตรวจสอบพื้นที่ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและท้องถิ่น   ซึ่งพบว่า พื้นที่สาธารณะชุมชนบ้านสมานมิตร  มีพื้นที่ประมาณ  1,500  ไร่  มีการตรวจสอบแล้ว่าเป็นพื้นที่ที่อยู่ใน  นสล.ทั้งหมด  2 ฉบับ 
  • ชุมชนมีการจัดการที่ดินโดยแบ่งเขตการใช้ประโยชน์ตามลักษณะของ พื้นที่ คือ ลักษณะพื้นที่แบ่งเป็นพื้นที่หนองน้ำ  ป่าชุมชนที่สาธารณะ  ทุ่งเลี้ยงสัตว์  สวนไม้ยูคา  โดยมีการกำหนดและข้อตกลงการใช้ประโยชน์ที่ดินร่วมกัน ได้แก่ การทำงานนารวม  การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม   การปลูกไม้ยืนต้น (ต้นตะกู  งิ้วหลวง) 
  • การประกาศยกเลิกเขต สปก.  ในเขตพื้นที่อำเภอเวียงชัย  ส่งผลให้พื้นที่ที่อยู่อาศัยของชุมชนบ้านสมานเมติรสามารถออกโฉนดที่ดินได้   และมีการสำรวจข้อมูลทะเบียนเรียบร้อย
  • ปัจจุบันพื้นที่สาธารณะประโยชน์ประมาณ 2,300 ไร่ อยู่ระหว่างการปักหมุดแนวเขต โดยคณะกรรมการดูแลสิ่งแวดล้อม
  •  มีการพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดินพื้นที่สาธารณะประโยชน์ดังต่อไปนี้  
    • ปลูกป่าถาวรเพื่อฟื้นฟูทรัพยากร (พันธุ์ไม้หายากและขอกล้าไม้จากสำนักงานป่าไม้และเครือข่าย/ภาคีต่างจังหวัด) 
    • ทำนารวม  (ชาวบ้านที่มีไม่ที่ดินทำกินทำนำรวมกันโดยการลงหุ้นเงินและแรงงาน)
    • แปลงปลูกพืชเศรษฐกิจของกลุ่มอาชีพในชุมชน (ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม  ปลูกฝ้ายอินทรีย์  ปลูกมันสำปะหลัง   ฯลฯ)
    • ปลูกไม้เศรษฐกิจและไม้หายาก  (ต้นตะกู   ยางนา   งิ้วหลวง   จำปา ฯลฯ)
    • แปลงเพาะพันธุ์กล้าไม้
    • พื้นที่เลี้ยงสัตว์
  •  มีการจัดตั้งกองทุนที่ดินและทรัพยากรชุมชนบ้านสมานมิตร
  • มีกระบวนการติดตามการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการเข้ามายึดที่ดินโดยกลุ่มนายทุนเอกชน  โดยยึดตามมติของกรรมการดูแลสิ่งแวดล้อมในการพัฒนาการใช้ประโยชน์ร่วมกันของ ชุมชน   แต่ถ้าหากพื้นที่ดังกล่าวจะใช้ประโยชน์โดยหน่วยงานราชการ  จึงจะยอมออกจากพื้นที่ดังกล่าว
  • เกิดการจัดความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับชุมชนรอบข้าง  ในระยะที่ผ่านมา  การประชุมความร่วมมือในการพัฒนาหนองหลวง ของ 3  ตำบล  2  อำเภอ(ตัวแทนคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมบ้านสมานมิตรเข้าร่วม)ส่วนใหญ่เป็นการ เสนอโครงการขุดลอกบริเวณรอบหนองหลอง  เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว   ซึ่งแผนพัฒนาดังกล่าวชุมชนมีความเห็นว่า  ควรมีการสำรวจและประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็น  และศึกษาวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่จะเกิดต่อพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์น้ำด้วย   เพราะพื้นที่ดังกล่าว  เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงราย
ส่วนการใช้ประโยชน์ในพื้นที่สาธารณะบริเวณหนองหลวง  และพื้นที่สาธารณะบ้านสมานมิตร  ครอบคลุมทุกหมู่บ้านที่ติดกับบริเวณหนองหลวง  ตลอดจนหมู่บ้านอื่น ๆ  ที่ห่างออกไป ก็มาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้   เช่น  พื้นที่ทุ่งเลี้ยงสัตว์  ในช่วงฤดูทำนา  ชาวบ้านที่มีวัว  กระบือ  ก็จะนำมาเลี้ยงในพื้นที่ดังกล่าว  เพราะเป็นพื้นที่สูง  เป็นที่พักสัตว์   ส่วนการประกอบอาชีพประมง    การหาปลา  หากุ้งน้ำจืด   และหอย   ตลอดจนพืชผักต่าง ๆ   เพื่อใช้ในการดำรงชีวิต  และการเสริมสร้างรายได้จากอาชีพหลัก  ส่วนใหญ่จะเป็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณรอบหนองหลวง  และมีหมู่บ้านอื่นที่อยู่ในพื้นที่เขตของ  3  ตำบล  2  อำเภอ   คือตำบลเวียงชัย  ตำบลดอนศิลา   อ.เวียงชัย  และตำบลห้วยสัก  อ.เมือง  ก็เข้ามาทำมาหากินในพื้นที่ดังกล่าว   ส่วนชาวบ้านอำเภออื่นๆ  จะเข้ามาหาปลาในช่วงงานประเพณีวัฒนธรรม  เช่น   เช่น  ในวันสังขาลล่อง  ตามประเพณีวันสงกรานต์ (วันที่ 13  เมษายนของทุกปี)  กลุ่มผู้ชายจะออกบ้านเพื่อหาปลา  ยิงนก  จับสัตว์   ซึ่งในอดีต  การหาปลายิงนก  ก็เพื่อหาอาหารไว้สำหรับตอนรับแขก  ญาติพี่น้องที่จะเดินทางมาเยี่ยมเยือน  รดน้ำดำหัวคนเฒ่าคนแก่
จุดเด่นที่สำคัญของพื้นที่
  • มีความหลากหลายทางชีวภาพ  ติดกับพื้นที่หนองหลวง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัด
  • ชุมชนมีความพร้อมในการดำเนินการและบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ร่วมกัน
  • ชุมชนมีความพร้อมในการให้ความร่วมมือกับหน่วยงานราชการในการปกป้องผลประโยชน์ของส่วนรวม  โดยพิสูจน์จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา
  • เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมแก่การเพาะปลูก  การอนุรักษ์พันธุ์ปลาหายาก  และสอดคล้องกับวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่น
ปัญหาอุปสรรค/ข้อจำกัดในการทำงาน
  • งบประมาณในการดำเนินการของส่วนราชการไม่มีในส่วนนี้
  • ไม่มีหนังสือคำสั่ง  หรือระเบียบปฏิบัติให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ หรือเกี่ยวข้อง
  • เจ้าหน้าที่ อบต.  ไม่เห็นความสำคัญกับปัญหาของชาวบ้านอย่างแท้จริง  ชอบจัดกิจกรรมแต่ไม่ชอบแก้ไขปัญหา   โดยเฉพาะปัญหาที่มีความขัดแย้ง
  • การกีดกัน  การมีส่วนร่วมการพัฒนาชุมชน  ขององค์กรชุมชน  กับฝ่ายปกครอง  (ท้องที่  ท้องถิ่น)  เช่น  การกล่าวหาว่าเป็น NGOs หรือทำงานให้  NGOs    หรือเป็นฝ่ายหัวรุนแรงจึงไม่อยากเชิญให้ร่วมการประชุม
  • แกนนำบางคน มีภาระเกี่ยวกับหนี้สินและหน้าที่งานการเกษตรและครอบครัวทำให้การดำเนินงานล่าช้า
  • ข้อจำกัดและกลไกของรัฐที่ล่าช้า ไม่รู้จักบทบาทหน้าที่ของตน ไม่กล้าใช้กฎหมายเนื่องจากเกรงใจผู้มีอิทธิพล  และผู้นำในท้องถิ่นที่มีผลประโยชน์แอบแฝง ทับซ้อน
  • กลไกท้องถิ่น/นักการเมือง  ที่ไม่เอื้อต่อการแก้ปัญหา กลัวเสียฐานทางการเมือง ไม่กล้าตัดสินในการดำเนินการ โยนให้เป็นเรื่องของทางราชการส่วนกลางดำเนินการ
  • แกนนำในหมู่บ้านบางคนมีผลประโยชน์แอบแฝง อ่อนไหวและอ่อนแอ พึ่งพิงต่อนายทุนภายนอก
  • ผู้นำชุมชนขาดประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหา และสร้างอำนาจต่อรอง หวังประโยชน์จากกลุ่มทุน รอหนังสือคำสั่งจากทางการ
  • ไม่สามารถสร้างแกนนำรุ่นใหม่ขึ้นมาทดแทนในการพัฒนาชุมชน  เยาวชนมุ่งสู่เมือง  รับใช้ระบบทุนนิยม  (รับจ้างจนตาย)
  • ชาวบ้านส่วนใหญ่ยากจน  มีภาวะหนี้สิน  ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง จำเป็นต้องเช่าที่กลุ่มทุนข้างนอก  เกิดการพึ่งพิง และสยบยอมต่อกลุ่มอิทธิพล
  • ความรู้สึกแบบปัจเจกในชุมชนมีสูง ไม่คุ้นเคยกับการทำงานชุมชนแบบมีส่วนร่วม หรืออีกแนวหนึ่งคือรวมตัวกันเพื่อจะให้ได้เอกสารสิทธิเท่านั้น หลังจากได้ที่ดินแล้วก็จะขาดการรวมตัวที่เข้มแข็ง   และนำที่ดินไปค้ำประกันเงินกู้  เกิดภาวะหนี้และที่ดินหลุดมือ เป็นวัฏจักรไม่รู้จบ
  • ราษฎรอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบ และถูกล้อมกรอบมาตลอด  เช่น นโยบายรัฐ กฎระเบียบต่างๆ   นักการเมือง  ผู้มีอิทธิพล เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้ราษฎรอ่อนแอทั้งสิ้น เห็นได้จากการประชุมประจำเดือน ราษฎรไม่มีเวลาที่จะพูดคุยถึงการแก้ไขปัญหามากนัก เรื่องที่พูดกันมักจะเป็นเรื่องที่   “ทางราชการสั่งมาว่า”  แทบทั้งสิ้น
         
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการแก้ไขปัญหาที่ดินทั่วประเทศไทย จะยังไม่มีที่ไหนที่มีความสำเร็จเสร็จสมบูรณ์ พอที่จะเป็นตัวอย่างต้นแบบของการแก้ไขปัญหาได้   แต่ขณะเดียวกันกับพบว่า  หมู่บ้านสมานมิตร ได้มีความพยายามในการปกป้องผืนแผ่นดิน   ป่า  และแหล่งน้ำ  ของชาติ  จากกลุ่มนายทุน  และพัฒนาการใช้ประโยชน์ร่วมกันของคนในชุมชนและชุมชนข้างเคียง  ดังกล่าวมาแล้ว   และยังคงต้องการผลักดันการออกเอกสารสิทธิ์ในรูปแบบโฉนดชุมชน   เพื่อรักษาที่ดินทำกินไว้ให้ลูกหลานในอนาคต   ซึ่งแสดงให้เห็นถึง การแสดงบทบาทหน้าที่การปกป้องที่ดินของรัฐโดยพลเมืองในเวลาเดียวกัน
แผนงาน/กิจกรรมระยะต่อไป
         แผนงานที่ดินและทรัพยากร
  • สำรวจแนวเขตพื้นที่สาธารณะโดยชุมชน   โดยใช้แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ  1:4000
  • ปลูกป่าพื้นที่สาธารณะ จำนวน  200 ไร่  ในปี 2552
  • จัดตั้งธนาคารต้นไม้  1 แห่ง  (เพาะพันธุ์กล้าไม้)
  • ประกาศเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา  50ไร่
  • ผลักดันโฉนดชุมชนและพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดินร่วมกันอย่างเหมาะสม
  • จัดตั้งกองทุนที่ดินและการจัดการทรัพยากร
แผนงานพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน
  • การทำนารวมและเพาะเมล็ดพันธุ์ข้าวใช้เอง  จำนวน 200  ไร่
  • จัดตั้งกองทุนผลิตปุ๋ยชีวภาพชุมชน
  • ผลิตเตาเผาถ่านประสิทธิภาพสูง   /เผาถ่านจากเศษไม้เหลือใช้ / น้ำส้มควันไม้
  • ปลูกพืชพื้นเมืองเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน
  • พัฒนาทักษะและฝีมือให้กับกลุ่มอาชีพ
  • กันเขตพื้นที่เลี้ยงสัตว์
แผนงานด้านสวัสดิการ
  • เก็บข้อมูลเชิงวิจัยเกี่ยวผลกระทบผู้ใช้แรงงาน
  • สังเคราะห์ข้อมูลเพื่อกำหนดสิทธิประโยชน์กับกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้แรงงาน
  • สร้างความเข้าใจเพื่อขยายสมาชิก
  • จัดสวัสดิการชุมชนที่เป็นตัวเงินและฐานทรัพยากร (การอาหารจากป่า  จากหนองน้ำ  และการใช้ประโยชน์จากที่ดินสาธารณะประโยชน์)
แผนงานพัฒนาศูนย์เรียนรู้ชุมชน
  • ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์
  • พัฒนาเว๊บไซด์ศูนย์เรียนรู้/สภาองค์กรชุมชนตำบลดอนศิลา
  • พัฒนาศักยภาพเยาวชน (บัณฑิตคืนถิ่น)
  • ร่วมคณะทำงานระดับจังหวัดศึกษาติดตามเรื่องการแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน
ข้อเสนอทางนโยบาย
  • สร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา  โดยให้เจ้าของปัญหาเป็นผู้ดำเนินการหลัก
  • กระจายอำนาจในการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและไม่รวมศูนย์
  • ผู้มีอำนาจในการจัดการไม่เลือกข้าง  เลือกฝ่าย  เลือกปฏิบัติเฉพาะฝ่ายตน แต่ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่สูญเสียผลประโยชน์  
  • ห้ามกีดกันหรือแย่งชิงทรัพยากรที่ใช้การดำรงชีวิตที่ไม่เป็นธรรม
  • ให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาที่ดินขององค์กรชุมชนจนกว่าจะมีการออกโฉนดชุมชน
  • ให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณในการจัดการที่ดินและพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากร
  • จัดทำระเบียบหรือหนังสือสั่งการถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ให้สนับสนุนงบประมาณหรือเจ้าหน้าที่เป็นคณะทำงานร่วมกันอย่างเป็นทางการ
  • เคารพความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายตามวิถีชีวิต   แต่ไม่ใช่แตกแยก
  • ให้ใช้พื้นที่ของหมู่บ้านเป็นพื้นที่ศึกษา ในการแก้ไขปัญหาที่ดิน เพื่อป้องกันข้อผิดพลาดอันอาจเกิดขึ้นกับชุมชนอื่น ๆ  ตามนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงไว้
  • เร่งการออกโฉนดชุมชน บนฐานทรัพยากรหมู่บ้านเป็นการเร่งด่วน เพื่อป้องกันการบุกรุก การสูญเสีย  และความมั่นคงในการ ดูแลรักษา และการถือครองของชุมชน
  • พิสูจน์การออกเอกสารสิทธิ์ในพื้นที่ป่า ในเขตหมู่บ้านทั้งหมด
  • ทำหนังสือชี้แจงสร้างความเข้าใจกับทุกชุมชน/หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
วิไล  นาไพวรรณ์: เขียน
นภาพร  สุวรรณศักดิ์  : เรียบเรียง