"บนโลกใบนี้คงไม่มีผืนแผ่นดินตรงไหนงอกขึ้นมาได้ แต่มนุษย์เพิ่มจำนวนขึ้นทุกวัน แม้มนุษย์จะทำไห้โลกใบนี้โตขึ้นไม่ได้ แต่ถ้ารู้จักเพิ่มสิ่งที่กินได้ ก็เท่ากับเพิ่มขนาดของโลกเช่นกัน "
ความจนเป็นปัญหาใหญ่ทางโครงสร้างสังคม ซึ่งเกี่ยวโยงกระทบเป็นลูกโซ่ จากจำนวนคนยากจนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หนี้สินรุงรัง ไร้ที่ทำกินและที่อยู่อาศัย รวมไปถึงการบุกรุกหรือเป็นเครื่องมือของนายทุนในการบุกรุกป่า ก่อให้เกิดปัญหาระบบนิเวศน์เสื่อมโทรม ฯลฯ ปัญหาทั้งหมดดังกล่าวล้วนสืบเนื่องจากรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยไม่ได้วางแผนการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างจริงจัง ไม่มีนโยบายในการกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากร และการมีวิสัยทัศน์การพัฒนาแบบองค์รวมที่เน้นความหลากหลายและการมีส่วนร่วมของประชาชน
ในทางตรงกันข้าม รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยไม่พยายามศึกษาและเข้าใจฐานะของประชาชน เมื่อเกิดปัญหาความขัดแย้งจากการเรียกร้องของคนจน การประท้วงของกลุ่มเกษตรกรและกลุ่มชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบาย หรือการบีบบังคับให้คนจนเสียสละเพื่อสังคม รัฐบาลหรือกลุ่มชนชั้นผู้ปกครองมักใช้การแก้ไขปัญหาด้วยอำนาจความรุนแรง การข่มขู่คุกคาม การจับกุมคุมขัง หรือใช้กฎหมายอย่างไร้คุณธรรม อันเป็นการสร้างปัญหาใหม่แก่ประชาชน
ความยากจนจึงไม่ใช่เป็นเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ หรือเกิดจากอุปนิสัยความขี้เกียจของผู้คน ความยากจนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างการพัฒนา ที่มีพื้นฐานมาจากการไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนา ขณะเดียวกันก็มีความจำเป็นที่จะต้องสะสางปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นเพื่อเป็นการบรรเทาความรุนแรงจากปัญหาต่าง ๆ เช่น ปัญหาการจับกุมผู้มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยในเขตพื้นที่อนุรักษ์ ปัญหาคดีโลกร้อน ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายเพื่อยึดทรัพย์สินของประชาชนที่เกิดจากปัญหาหนี้สิน
ณ ปัจจุบันองค์กรชุมชน มีกระบวนการพัฒนาการจนมีความเข้มแข็งทั้งในระดับชุมชน การรวมตัวกันเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายประเด็นปัญหา และเครือข่ายคนจนทั้งผองเป็นพี่น้องกัน ในนาม “ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม” ขึ้น โดยการทำงานเป็นการทำงานในพื้นที่ชุมชนให้เกิดรูปธรรมไปพร้อม ๆ กับการขับเคลื่อนทางนโยบายสู่การแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน
นอกจากการพัฒนาพื้นที่รูปธรรมและการขับเคลื่อนเชิงนโยบายแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่สำคัญในการทำงานพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยโดยองค์กรชุมชน คณะผู้จัดทำจึงได้เรียบเรียงชุดประสบการณ์ออกมาเป็นคู่มือและขั้นตอนการทำงาน เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยในรูปแบบโฉนดชุมชน
สาเหตุของปัญหา
ที่ดินถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของกลุ่มชน ต่อมาที่ดินได้ถูกแปรเปลี่ยนให้เป็นสินค้าและมูลค่าที่สามารถตีค่าให้เป็นตัวเงิน มีการแย่งชิงที่ดิน โดยการกว้านซื้อที่ดินของกลุ่มนายทุน บุกรุกที่ดินเพิ่มขึ้นเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว ฯลฯ ท้ายที่สุดที่ดินหลุดมือจากการเป็นหนี้ นำซ้ำยังมีปัจจัยต่าง ๆ คุกคามทั้งจากภายนอกและภายใน
จากสภาพปัญหาและบทเรียนการสูญเสียที่ดินของเกษตรกร รวมถึงจากกระบวนการแก้ไขปัญหาของรัฐที่เป็นผู้ดูแลที่ดินของรัฐทุกประเภท โดยเฉพาะปัญหาที่ดินทำกินที่อยู่อาศัยที่อยู่ในเขตพื้นที่อนุรักษ์ของรัฐ (ป่าสงวนแห่งชาติ /อุทยานแห่งชาติ/ พื้นที่อนุรักษ์พื้นพืชและสัตว์) พบว่า ชุมชนส่วนใหญ่ มีการตั้งรกรากถิ่นฐานอยู่ก่อนแล้ว บางชุมชนตั้งมาไม่น้อยกว่า ๑๐๐ ปี หากใช้กระบวนการทางกฎหมาย หรือนโยบาย รวมถึงมมติ ครม. ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง พบว่า ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนผู้ยากจนได้อย่างแท้จริง ซึ่งสามารถช่วยเหลือประชาชนได้เพียงบางส่วน และยังเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาขององค์กรชุมชน